แผนเติบโตของ ZEN


ZEN เพิ่งเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา วันนี้ผมจะเล่าให้ทุกท่านฟังว่า ZEN มีแผนเติบโตอย่างไร และจะกระทบกับงบการเงินอย่างไรบ้าง



ธุรกิจของบริษัทฯ

ZEN ทำธุรกิจร้านอาหารโดยมีแบรนด์ทั้งหมด 13 แบรนด์ เป็นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ และแบรนด์ไทย 7 แบรนด์

แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น ประกอบไปด้วย ZEN, AKA, On the table, Sushi Cyu และ Tetsu ส่วนแบรนด์ร้านอาหารไทยประกอบไปด้วย ตำมั่ว, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, เฝอ, เดอ ตำมั่ว, เขียง และล่าสุดคือ Foo Flavor


โดยร้านอาหารญี่ปุ่นจะเน้นเปิดในศูนย์การค้าที่มีกำลังซื้อสูง เช่น Central, The mall, Esplanade เป็นต้น ส่วนแบรนด์ไทยจะเปิดในสถานที่ที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น Big C, Lotus รวมไปถึงในปั๊มน้ำมัน ปตท. เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้นธุรกิจร้านอาหารของบริษัทฯ ยังมีทั้งแบบที่เป็นเจ้าของเอง และแบบขายแฟรนไชส์

ตามรายงานของบริษัทฯ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 พบว่าบริษัทฯ มีสาขาทั้งหมด 296 สาขา บริหารเอง 144 สาขา แฟรนไชส์ในไทย 143 สาขา และต่างประเทศอีก 10 สาขา


แต่..หากคิดเป็นสัดส่วนรายได้จะพบว่ารายได้จากการขายและบริการของบริษัทฯ เยอะกว่ารายได้จากแฟรนไชส์ค่อนข้างมาก


แผนเติบโตของบริษัท

จาก Opportunity Day Q2/2019 ผมพอจะจับกลยุทธ์ในการเติบโตของบริษัท ฯ ได้ 3 ประเด็น คือ

1. เน้น Low Cost มากขึ้น

โดยจะเน้นลงทุนในสาขาที่มีพื้นที่ไม่มาก ขายสินค้าในราคาที่ไม่แพงมาก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ ซึ่งจะมี “แบรนด์เขียง” เป็นตัวชูโรง โดยชูรูปแบบในการให้บริการ 5 รูปแบบ คือ Gas Station Format, Community Mall Format, Standalone Format, Food Court Format และ DELCO Format


นอกจากนั้นบริษัทฯ จะมีการแตกแบรนด์ลูกของ ZEN แบบ Low Cost ออกมา เช่น ZEN Box ด้วย

2. เน้นขายแฟรนไชส์มากขึ้น

บริษัทฯ บอกว่าจะเน้นขยายสาขาในลักษณะแฟรนไชส์มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเน้นปั้นแบรนด์เขียงก่อน ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นร้านอาหารภายใต้แบรนด์เขียงอยู่ในปั๊ม ปตท. โดยบริษัทฯ จะเป็นเจ้าของเองประมาณ 20% ส่วนที่เหลือจะขายแฟรนไชส์


นอกจากนั้นด้วยขนาดของสาขาที่ถูกปรับให้เล็กลง ย่อมส่งผลให้ราคาของแฟรนไชส์แต่ละสาขามีราคาที่ถูกลงไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้การขยายสาขาทำได้ง่ายขึ้น

3. ให้ความสำคัญกับ Delivery

ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคค่อย ๆ เปลี่ยนไป โดยเน้นสั่งสินค้าผ่านช่องทาง Delivery มากขึ้น ทำให้บริษัทจัดทำครัวกลางขนาดเล็ก หรือ DELCO Format เพื่อให้บริการตรงนี้โดยเฉพาะ และร่วมมือกับทั้ง foodpanda, Lineman, Grab และ GET ในการส่งสินค้า ซึ่งทาง บริษัทฯ บอกว่ายอดขายดีขึ้นเรื่อย ๆ



ผลกระทบต่องบการเงิน

การที่บริษัทฯ วางกลยุทธ์ Low Cost ในลักษณะนี้ ย่อมเกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อบริษัทฯ
ผลดีก็คือด้วยราคาที่เข้าถึงได้และสาขาที่เยอะขึ้นน่าจะช่วยให้ยอดขายของบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ส่วนผลเสียก็คือด้วยกลยุทธ์นี้น่าจะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัทลดลงไป เพราะเมื่อก่อน ZEN จะเน้นขายสินค้าในราคาที่ค่อนข้างสูง


ซึ่งหากเราลองดูงบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 – พ.ศ. 2561 จะพบว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะอยู่ที่ 24 % แต่ใน 9 เดือนของปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงไปอยู่ที่ 20.65% เท่านั้น

ถ้าชอบอย่าลืมติดตาม “InvesTalk – สนทนาภาษานักลงทุน” ได้ทาง

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น